วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เมื่อมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการสอบสวน

การปฏิบัติเมื่อมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการสอบสวน

              ในกรณีมีผู้เสียหาย ผู้กล่าวโทษ ผู้ต้องหา สามี ภริยา หรือญาติของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับคู่กรณี ร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวน เกี่ยวกับการสอบสวนดำเนินคดีอาญา หรือ
              ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวน เห็นว่า คู่กรณีอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม
              ให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาผู้นั้นให้ความสนใจ รีบพิจารณาสั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว และ
              ให้ผู้บังคับบัญชาผู้นั้นรีบรายงานถึงผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปอีกหนึ่งชั้น ได้ทราบโดยมิชักช้าว่า ได้สั่งการไปประการใดแล้ว
              ให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาผู้รับรายงานดังกล่าว ติดตามผลการปฏิบัติ และสั่งพิจารณาการแก้ปัญหา เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม

              เมื่อเห็นว่ามีเหตุอันสมควร ให้ผู้บังคับบัญชาเรียกสำนวนการสอบสวนมาตรวจ และพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร
               -  โดยรับผิดชอบทำการสอบสวนเสียเอง หรือ
               -  สั่งการให้พนักงานสอบสวนชั้นผู้ใหญ่รับผิดชอบทำการสอบสวนเสียเอง หรือ
               -  สั่งให้พนักงานสอบสวนชั้นผู้ใหญ่เข้าไปควบคุมการสอบสวนอย่างใกล้ชิดโดยมิชักช้า เพื่อกำกับดูแลให้การสอบสวนคดีนั้นเป็นไปด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว บริสุทธิ์ ยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย

              ให้ผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนที่ได้รับการร้องเรียนขอความเป็นธรรม แจ้งผลการดำเนินการเบื้องต้นให้ผู้ร้องเรียนทราบ ภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน และจะแจ้งผลการดำเนินการให้ทราบอีกครั้ง หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ

(ที่มา : บทที่ ๒ การอำนวยความยุติธรรม ข้อ ๖ การสอบสวน  ข้อ ๖.๑๓)

วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การดำเนินการเมื่อผู้ต้องหาเข้ามอบตัว

กรณีผู้ต้องหาเข้าหาพนักงานสอบสวน
                เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด ให้ดำเนินการดังนี้ 
                (๑)  กรณีมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดตามข้อหานั้น ให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิด แล้วบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาไว้ในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา (แบบ ส ๕๖ ๕) และต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้ 
                (๒)  รณีไม่มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดตามข้อหานั้น ให้พนักงานสอบสวนระบุการกระทำตามที่ผู้กล่าวหาได้กล่าวหาเท่านั้น โดยไม่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดและฐานความผิดให้ผู้ต้องหาทราบแต่อย่างใด
               แต่ถ้ามีหลักฐานเพิ่มเติมในภายหลังว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดตามข้อหานั้น พนักงานสอบสวนจึงจะแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่า ผู้ต้องหาได้กระทำความผิดและฐานความผิดให้ผู้ต้องหาทราบเพิ่มเติม รวมทั้งต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้  


กรณีแจ้งข้อหาผู้ต้องหาแล้ว
            เมื่อมีการแจ้งข้อหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่มีการออกหมายจับ ให้ดำเนินการดังนี้ 
            (๑)  กรณีที่พนักงานสอบสวนเห็นว่า มีเหตุที่จะออกหมายขังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๑  พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอให้ศาลออกหมายขังทันที
                  ถ้าขณะนั้นเป็นเวลาที่ศาลปิดทำการ หรือใกล้จะปิดทำการ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลในโอกาสแรกที่เปิดทำการ ในการนี้ให้พนักงานสอบสวนลงรายงานบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีเพื่อเป็นหลักฐานโดยให้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับการแจ้งข้อหา และมีข้อความต่อท้ายดังนี้                         "นื่องจากขณะนี้เป็นเวลาที่ศาลปิดทำการหรือใกล้จะปิดทำการ พนักงานสอบสวนไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาไปขอให้ศาลออกหมายขังได้ทัน จึงนัดหมายให้ นาย/นาง/นางสาว ...... ผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ .... /คดีจราจรที่ ..... ไปศาล ...... เพื่อขอให้ศาลออกหมายขัง นาย/นาง/นางสาว ....... ในวันที่ ....... เวลา .... น. นาย/นาง/นางสาว ...... ได้รับทราบคำสั่งของพนักงานสอบสวนแล้วยืนยันว่าจะไปศาลตามที่พนักงานสอบสวนสั่ง จึงให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน”  จากนั้นให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อรับทราบไว้เป็นหลักฐาน
                 หากผู้ต้องหาไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจขังผู้ต้องหานั้นได้ โดยให้ถือเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่จะจับผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายจับ และมีอำนาจปล่อยชั่วคราวหรือควบคุมตัวผู้ต้องหานั้น (อาจตีความได้ ๒ กรณี คือ กรณีแรก ศาลปิดทำการแล้วแต่ผู้ต้องหาแสดงเจตนาไม่ยอมปฏิบัติตามตั้งแต่แรกโดยยืนยันว่าจะไม่ไปศาลตามกำหนดนัดและไม่ยอมลงลายมือชื่อในรายงานบันทึกประจำวัน พงส.จึงจะจับผู้ต้องหาได้  ส่วนกรณีที่สอง ศาลเปิดทำการในภายหลังแต่ผู้ต้องหาไม่มาตามนัด พงส.จึงติดตามจับตัวมาดำเนินคดีได้)
                 หากกรณีไม่ใช่เวลาศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการ เมื่อพนักงานสอบสวนให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอให้ศาลออกหมายขัง หากผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจับผู้ต้องหาดำเนินคดีตามข้อหาที่ได้แจ้งข้อหานั้น โดยถือว่า เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่จะจับผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายจับ และมีอำนาจปล่อยชั่วคราวได้
               (๒)  กรณีที่พนักงานสอบสวนเห็นว่า ไม่มีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๑ หลังจากแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบแล้ว พนักงานสอบสวนจะจับกุมและควบคุมผู้ต้องหาไม่ได้ 
                      การบันทึกเกี่ยวกับการแจ้งข้อหาในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี บันทึกพนักงานสอบสวน หรือเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนให้พนักงานสอบสวนบันทึกให้ปรากฏข้อความว่า
                     "แจ้งข้อหาหรือฐานความผิดให้ผู้ต้องหาทราบแล้ว จะได้สอบสวนต่อไป ไม่มีการจับกุมและควบคุมผู้ต้องหาแต่อย่างใด"
                     ห้ามมิให้บันทึกว่า แจ้งข้อหาหรือฐานความผิดให้ผู้ต้องหาทราบแล้วปล่อยตัวไปเพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ามีการจับกุมและควบคุมผู้ต้องหา
                     ในกรณีนี้ พนักงานสอบสวนไม่ต้องแจ้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๗/๑ เพราะผู้ต้องหาที่ถูกแจ้งข้อหาในกรณีนี้ ไม่ใช่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขัง และไม่ต้องทำบันทึกควบคุมผู้ต้องหาประกอบสำนวนแต่อย่างใด

วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ

                         การให้ผู้ต้องหานำพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ  


              ห้ามจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้าทำข่าวขณะมีการให้ผู้ต้องหานำพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ และหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ใด ๆ ในลักษณะเป็นการโต้ตอบระหว่างพนักงานสอบสวนกับผู้ต้องหาหรือบุคคลใด ๆ โดยมีสื่อมวลชนเป็นผู้สัมภาษณ์  เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้รูปคดีเสียหาย (๖.๑๐.๑)

              พนักงานสอบสวนไม่ควรให้ผู้ต้องหานำไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพว่าผู้ต้องหากระทำผิดอย่างไร แต่ถ้าเป็นการนำชี้ประกอบคำรับอื่น เช่น นำชี้จุดที่ซ่อนทรัพย์สินซึ่งได้มาจากการกระทำผิด สิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำผิด หรือสงสัยว่าจะใช้ในการกระทำผิด หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐาน อาจให้ผู้ต้องหานำชี้ก็ได้ และป้องกันมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในที่นำชี้ และให้พึงระมัดระวังการใช้ถ้อยคำ หรือกิริยาท่าทางที่เห็นว่าเป็นการข่มขู่หรือการปฏิบัติการที่ไม่สมควรแก่ผู้ต้องหา
              ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ห้ามมิให้ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ เพราะจะเป็นการประจานเด็กและอาจเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก รวมทั้งห้ามมิให้นำผู้ต้องหาไปขอขมาศพ หรือบิดา มารดา สามี ภรรยา ญาติ มิตรสหาย หรือผู้ปกครองของผู้ตาย 
               นอกจากนี้ ห้ามนำผู้เสียหาย พยาน เข้าร่วมในการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหาเป็นอันขาด โดยเฉพาะผู้เสียหายที่เป็นเด็ก สตรี พระภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช (๖.๑๐.๒)

ที่มา : บทที่ ๒ การอำนวยความยุติธรรม ข้อ ๖ การสอบสวน ข้อ ๖.๑๐

วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คำสั่ง ตร. ที่ถูกยกเลิก

                                            คำสั่งที่ถูกยกเลิกโดย คำสั่ง ตร.ที่ 419/2556 ลง 1 ก.ค.2556

            1. คำสั่ง ตร.ที่ 960/2537 ลง 10 ส.ค.2537  เรื่อง มาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา
            2. คำสั่ง ตร.ที่ 572/2538 ลง 16 ส.ค.2538  เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในการสอบสวนคดีอาญา
            3. คำสั่ง ตร.ที่ 753/2541 ลง 28 พ.ค.2541  เรื่อง การทำสำนวนการสอบสวน
            4. คำสั่ง ตร.ที่ 472/2550 ลง 21 ส.ค.2550  เรื่อง การทำสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติม 
            5. หนังสือ คด. ที่ 0603.3/.1609 ลง 27 มี.ค.2532  เรื่อง ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.137 และ ม.267
            6. หนังสือ คด. ที่ 0603.21/3693 ลง 2 พ.ค.2533  เรื่อง กำชับการสอบสวนคดีอาญา 
            7. หนังสือ ตร. ที่ 0503.6/11999 ลง  9 ก.ย.2539  เรื่อง กำชับและซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการปล่อยชั่วคราว
            8. หนังสือ ตร.ที่ 0004.6/6167 ลง 20 พ.ค.2545  เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการส่งสำนวนคดีที่ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในคดีอื่นที่เรือนจำซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลอื่น 
            9. หนังสือ ตร. ที่ 0004.6/10615 ลง 27 ส.ค.2545  เรื่อง กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนที่ผู้ต้องหาหลบหนีประกันและคดีที่ผู้ต้องหาบางคนถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลอื่น
            10. หนังสือ คด. ที่ 0004.6/10940 ลง 3 ก.ย.2545  เรื่อง แนวทางปฏิบัติการทำสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติม
            11. หนังสือ คด. ที่ 0004.36/5061 ลง 23 พ.ค.2546  เรื่อง การสอบสวนคดีอาญากรณีผู้เสียหายมอบอำนาจผู้อื่นให้ร้องทุกข์
            12. หนังสือ ตร.ที่ 0004.6/9733 ลง 18 ก.ย.2546  เรื่อง แนวทางการขอขอยายเวลาการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ
            13. หนังสือ ตร.ที่ 0004.6/9952  ลง 24 ก.ย.2546  เรื่อง แนวทางการปฏิบัติในการพิจารณาโดยต่อเนื่อง และการใช้หลักประกันในชั้นสอบสวนเป็นหลักประกันในชั้นศาล 
            14. หนังสือ คด. ที่ 0004.6/10506  ลง 22 ธ.ค.2547  เรื่อง กำชับการปฏิบัติในการสอบสวนคดีอาญา 
            15. หนังสือ คด. ที่ 0004.6/1378 ลง 9 มี.ค. 2548  เรื่อง แนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547
            16. หนังสือ ตร. ที่ 0031.212/4360 ลง 1 ส.ค.2549  เรื่อง กำชับให้ตรวจสอบข้อมูลของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับ
            17. หนังสือ ตร. ที่ 0031.212/4458  ลง 7 ส.ค.2549  เรื่อง  แนวทางปฏิบัติในการขอออกหมายค้น หมายจับ และการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลอาญา
            18. หนังสือ ตร. ที่ 0031.212/4501 ลง 3 ต.ค.2550  เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ การบันทึกคดี(ออกเลขคดี) การสอบสวนคดีไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด และการรายงานคดี
            19. หนังสือ ตร. ที่ 0031.212/5189 ลง 13 พ.ย.2550 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติการเรียงเอกสารในสำนวนการสอบสวนคดีอาญาและการออกเลขคดี (เพิ่มเติม) 
            20. หนังสือ ตร. ที่ 0031.212/09086  ลง 29 ธ.ค.2551  เรื่อง แก้ไขแนวทางปฏิบัติในการรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ การบันทึกคดี (ออกเลขคดี) การสอบสวนคดีไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดและการรายงานคดี และการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพงานสอบสวน 
            21. หนังสือ ตร. ที่ 0011.25/968 ลง  11 มี.ค.2554  เรื่อง การอายัดผู้ต้องหาต่อเรือนจำหรือทัณฑสถาน
            22. หนังสือ ตร. ที่ 0011.24/ 73  ลง  23 ส.ค.2554  เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการออกหมายเรียกและขอหมายจับผู้ต้องหา