วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558

การสอบสวนชันสูตรพลิกศพ

ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้น
            (๑)  โดยการกระทำของเจ้าพนักงาน  ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
            (๒)  ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน   ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
            (๓)  ผู้ตายถูกกล่าวหาว่า ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน  ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่

            -  ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (รอง ผบก. ที่ได้รับมอบหมาย) แจ้งให้พนักงานอัยการ เข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนในการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ และสำนวนการสอบสวนด้วย
            -  การแจ้งอาจทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือวาจาก็ได้ ในกรณีที่แจ้งด้วยวาจา ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ในบันทึกพนักงานสอบสวนด้วย
            -  ให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้รับผิดชอบทำสำนวนการสอบสวน โดยพนักงานอัยการอาจให้คำแนะนำ ตรวจสอบพยานหลักฐาน ถามปากคำ หรือสั่งให้ถามปากคำบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ ตั้งแต่เริ่มการทำสำนวน นับแต่โอกาสแรกเท่าที่จะพึงกระทำได้
             -  กรณีจำเป็นเร่งด่วน และมีเหตุอันควร ไม่อาจรอพนักงานอัยการเข้าร่วมในการทำสำนวนสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนทำสำนวนต่อไป แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอพนักงานอัยการ ไว้ในบันทึกพนักงานสอบสวนด้วย
             -  ในการสอบสวน หากพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีความเห็นไม่ตรงกัน พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ อาจทำความเห็นของตนรวมไว้ในสำนวนสอบสวนด้วยก็ได้

สำนวนการสอบสวน
                สามารถจำแนกตามสารบบออกได้เป็น ๓ ประเภท  คือ
                (๑) สำนวนคดีอาญาทั่วไป
                (๒) สำนวนคดีจราจรทางบก
                (๓) สำนวนชันสูตรพลิกศพ

ความหมาย
                "สำนวนชันสูตรพลิกศพ"  หมายถึง  สำนวนการสอบสวนชันสูตรพลิกศพ ที่ได้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ ซึ่งไม่ใช่สำนวนคดี เพียงแต่ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้โดยอนุโลม

การทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ (ข้อ ๓.๑๓)
                การทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้พนักงานสอบสวนทำสำนวนเช่นเดียวกันกับการทำสำนวนการสอบสวนคดีอาญาทั่วไป โดยให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการสอบสวนมาใช้โดยอนุโลม และในสำนวนชันสูตรพลิกศพ ควรประกอบด้วยเอกสาร ดังนี้
               (๑) หนังสือส่งพนักงานอัยการ หรือ หนังสือส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพ จากหัวหน้าสถานีตำรวจที่รับผิดชอบการสอบสวนชันสูตรพลิกศพ ไปยังหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบสอบสวนคดีอาญาหรือคดีจราจรทางบก (กรณีพนักงานสอบสวนผู้ชันสูตรพลิกศพเป็นพนักงานสอบสวนคนละท้องที่กับพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจทำการสอบสวนคดีอาญาหรือคดีจราจรทางบก)
               (๒) รายงานการสอบสวนสำนวนชันสูตรพลิกศพ (แบบ ส ๕๖ - ๓/๓)
               (๓) บันทึกคำให้การผู้กล่าวหา (ห้ามมิให้ใช้คำว่า "ผู้ร้อง")
               (๔) บันทึกคำให้การพยาน เช่น สามีภริยา ญาติ ผู้ปกครอง ผู้รู้เรื่องการตาย แพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพ เป็นต้น
               (๕) บันทึกพนักงานสอบสวน
               (๖) รายงานการชันสูตรพลิกศพ
               (๗) บันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ
               (๘) แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ
               (๙) ภาพถ่าย
               (๑๐) รายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุจากหน่วยงานวิทยาการ (ถ้ามี)
               (๑๑) สำเนาทะเบียนบ้านและใบมรณะบัตร (ถ้ามี)
               (๑๒) พิมพ์ลายนิ้วมือของศพ และผลการตรวจสอบประวัติ (ถ้ามี)
               (๑๓) บัญชีสำนวนการสอบสวน

การจัดเรียงสำนวนชันสูตรพลิกศพ 
                หากเป็นสำนวนชันสูตรพลิกศพเฉพาะกรณีที่มีความตายอันเป็นผลแห่งการกระทำผิดซึ่งมิใช่เป็นความตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีจะต้องนำสำนวนชันสูตรพลิกศพมาประกอบสำนวนคดีอาญาหรือคดีจราจรทางบก
                ในการจัดเรียงสำนวนการสอบสวนทั่วไป หรือสำนวนคดีที่ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด ให้จัดเรียงสำนวนชันสูตรพลิกศพไว้ท้ายสุดของสำนวนการสอบสวนคดีอาญาหรือคดีจราจรทางบก หรือจัดเรียงถัดจากผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษและพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหา และบัญชีสำนวนการสอบสวน (ข้อ ๓.๘.๑.๙, ข้อ ๓.๑๐.๗)
                ในการจัดเรียงสำนวนการสอบสวนที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อนหรือมีพยานหลักฐานจำนวนมาก ให้จัดเรียงสำนวนชันสูตรพลิกศพไว้ท้ายสุดของสำนวนการสอบสวนคดีอาญาหรือคดีจราจรทางบก หรือจัดเรียงถัดจากผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษและพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหา (ข้อ ๓.๘.๒.๑๘)

ระยะเวลาการสอบสวนชันสูตรพลิกศพ
                (๑)  ในกรณีที่มีความตายโดยผิดธรรมชาติ ซึ่งมิใช่ความตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
                       ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้รับผิดชอบทำสำนวนให้เสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาไปได้ โดยให้ขอขยายเวลาออกไปยังผู้บังคับการที่รับผิดชอบการสอบสวนในเขตพื้นที่นั้น พร้อมกับแสดงเหตุขัดข้องที่การสอบสวนไม่แล้วเสร็จไปด้วย
                      ให้ผู้บังคับการที่รับผิดชอบการสอบสวนในเขตพื้นที่นั้นพิจารณาอนุมัติขยายเวลาได้ตามเหตุผลและความจำเป็น และให้พนักงานสอบสวนบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในบันทึกพนักงานสอบสวน
               (๒)  ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
                      ให้รองผู้บังคับการหรือพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บังคับการที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่นั้นทำการสอบสวนด้วยตนเอง และให้แจ้งพนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนในการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน ๒ ครั้ง ครั้งละไม่เกิน ๓๐ วัน โดยให้ขอขยายเวลาออกไปยังผู้บังคับการที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่นั้น  พร้อมกับแสดงเหตุขัดข้องที่การสอบสวนไม่แล้วเสร็จไปด้วย
                      ให้ผู้บังคับการที่รับผิดชอบการสอบสวนในเขตพื้นที่นั้นพิจารณาอนุมัติขยายเวลาได้ตามเหตุผลและความจำเป็น และให้พนักงานสอบสวนบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในบันทึกพนักงานสอบสวน

กำหนดทำลายสำนวนชันสูตรพลิกศพ
                สำนวนชันสูตรพลิกศพที่ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งมาเก็บ ให้ทำลายเมื่อครบกำหนด ๒๐ ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการตาย

บทความที่เกี่ยวข้อง