การสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่ในคดีอื่น (ผู้ต้องหาอายัด)
ในกรณีผู้ต้องหากระทำความผิดหลายคดีในท้องที่เดียวกัน หรือหลายท้องที่ และผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่ในคดีใดคดีหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้
เมื่อมีการกระทำผิดในท้องที่อื่นอีก
กรณีที่ ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ได้กระทำความผิดในคดีอื่น ๆ อีก และต่างท้องที่=> ให้ พงส. ที่ผู้ต้องหาถูกจับครั้งแรก รีบแจ้งให้ พงส.ในคดีอื่น ๆ ทำการอายัดผู้ต้องหาโดยด่วน ทั้งนี้ โดยให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
รีบอายัดตัว ออกหมายจับ และแจ้งข้อหา
กรณี พงส. จำเป็นต้องได้ตัวผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่น ไว้เพื่อสอบสวนดำเนินคดีอีกคดีหนึ่ง=> ให้รีบ มีหนังสือแจ้งไปยังสถานที่คุมขังผู้ต้องหา เช่น เรือนจำ สถานีตำรวจ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่คุมขังผู้ต้องหาว่า ผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นบุคคลที่ พงส. ต้องการได้ตัวไว้เพื่อสอบสวนดำเนินคดี ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับสถานที่คุมขัง อันจะเป็นประโยชน์ในการคุมขังผู้ต้องหา การพิจารณาปล่อยชั่วคราว หรือคัดค้านการปล่อยชั่วคราว
=> ให้ พงส. ที่ต้องการได้ตัวผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่น รีบดำเนินการขอให้ศาลออกหมายจับ หลังจากศาลออกหมายจับแล้ว ให้รีบมีหนังสือขออายัดตัวผู้ต้องหา พร้อมกับส่งสำเนาหมายจับไปยังสถานที่คุมขังผู้ต้องหาโดยเร็ว
=> ให้ พงส. รีบสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นให้แล้วเสร็จ โดยไม่ต้องรอให้พ้นโทษในคดีเดิมก่อน และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการโดยเร็ว
กรณีคดีถึงที่สุด หรือยังไม่ถึงที่สุดแต่ใกล้ขาดอายุความ
กรณีส่งสำนวนคดีที่ผู้ต้องหาบางคนถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลอื่น ให้ปฏิบัติดังนี้=> ให้ พงส. แยกสำนวน ทำความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด ส่งไปยังพนักงานอัยการประจำศาลที่มีเขตอำนาจเหนือเรือนจำที่ผู้ถูกจำคุกต้องโทษอยู่ แม้ว่า จะอยู่คนละเขตท้องที่หรือคนละจังหวัดก็ตาม
กรณีผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังในคดีอื่นซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุด ให้ปฏิบัติดังนี้
(1) กรณีคดีใกล้ขาดอายุความ
=> ให้ หน.พงส. ประสานกับ พนักงานอัยการ เพื่อขอต่อศาล ให้โอนตัวผู้ต้องหาไปยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดี
(2) ในคดีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คดีใกล้ขาดอายุความ
=> ให้ พงส. รีบสอบสวนและสรุปสำนวนการสอบสวนเสนอผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจทำความเห็นทางคดีเพื่อพิจารณาและมีความเห็นทางคดี
- ในกรณีเสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้เก็บสำนวนไว้ที่ทำการของ พงส. โดยให้อยู่ในความรับผิดชอบของ หน.พงส.
- เมื่อมีการแต่งตั้งโยกย้ายให้ หน.พงส. ติดตามผลคดี เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ขอคัดสำเนาคำพิพากษาถึงที่สุดประกอบสำนวน แล้วส่งสำนวนให้พนักงานอัยการต่อไป
- ถ้าต่อมา ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่คดีใกล้จะขาดอายุความ ให้ หน.พงส. รีบดำเนินการตาม (1) ต่อไป
ติดตามคดีและถอนอายัดตัวผู้ต้องหา
ในระหว่างที่ผู้ต้องหาอายัด ถูกคุมขังอยู่ เมื่อ พงส. เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องขังผู้ต้องหาอายัดไว้ระหว่างการสอบสวนในคดีที่ขออายัด เช่น ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือคดีเลิกกันแล้ว ให้ พงส. รีบมีหนังสือขอถอนการอายัดตัวผู้ต้องหาดังกล่าวไปยังสถานที่ที่ขออายัดไว้โดยด่วนที่สุดกรณีที่การสอบสวนเสร็จสิ้นและมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาอายัด หลังจาก พงส. ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการแล้ว ให้ พงส. หมั่นติดตามผลการสั่งคดีของพนักงานอัยการ จนกระทั่ง พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและยื่นฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกอายัด และเรือนจำก็ได้รับหมายนัดพิจารณาของศาลนั้นแล้ว หรือกรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาอายัดแล้วก็ตาม ให้ พงส. รีบมีหนังสือขอถอนการอายัดตัวผู้ต้องหาดังกล่าว ไปยังสถานที่ที่ขออายัดผู้ต้องหาไว้โดยด่วนที่สุด
ให้หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนทุกแห่งจัดทำสมุดคุมคดีที่มีการอายัดตัวผู้ต้องหา (แบบ ส ๕๖ - ๘๓) ไว้ประจำที่หน่วยงาน เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบได้โดยสะดวกตลอดเวลา และให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ผบก. หรือ ผบช. แล้วแต่กรณี ตรวจสอบผลการปฏิบัติของพนักงานสอบสวนทุกระยะ
(อ้างอิง - คำสั่ง ตร.ที่ 419/2556 ข้อ 4 การสอบสวนกรณีพิเศษ ข้อ 4.4)