วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การรับแจ้งความ

การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา
การรับแจ้งความ

           เมื่อประชาชนมาแจ้งเรื่องราวต่าง ๆ ต่อสถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องมีหน้าที่ดำเนินการดังต่อไปนี้  
           ๑.  ต้องอำนวยความสะดวก และให้คำแนะนำ ที่ถูกต้อง อย่างรวดเร็ว
           ๒.  ต้องพิจารณาว่า เป็นการแจ้งความเกี่ยวกับคดีอาญาหรือไม่
                 ๒.๑  ถ้าหาก ผู้แจ้งความ ได้แจ้งความที่ไม่เกี่ยวกับคดีอาญา ซึ่งไม่ใช่คำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ แต่เป็นการขอรับบริการในเรื่องอื่น เช่นการแจ้งไว้ความเป็นหลักฐาน พนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะบันทึกไว้ในสมุดรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน
                          ถ้าเป็นกรณีเอกสารหาย ก็จะบันทึกในสมุดรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหาย
                 ๒.๒  ถ้าหาก ผู้มาแจ้งความ ได้แจ้งความที่เกี่ยวกับคดีอาญา ซึ่งเป็นการแจ้งความเกี่ยวกับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษในคดีอาญาทั่วไป หรือคดีจราจรทางบก 
                          พนักงานสอบสวน ต้องรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ  ไม่ว่าในเรื่องนั้นเหตุจะเกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจการสอบสวนของสถานีตำรวจท้องที่ที่รับผิดชอบหรือไม่ก็ตาม
                         พนักงานสอบสวน จะไม่รับแจ้งความโดยปฏิเสธว่า เหตุมิได้เกิดในเขตอำนาจตนไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้ 
                    (๑)  ต้องพิจารณาว่า เหตุเกิดในเขตอำนาจหรือไม่
                           กรณีเหตุความผิดอาญาได้เกิด อ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดในเขตอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ 
                           -   รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามระเบียบ
                           -   บันทึกรายละเอียดในสารบบการดำเนินคดีอาญา - จราจรทางบก
                           -   ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เปรียบเทียบปรับในวันเดียวกันนั้นก็ตาม หรือ
                           -   ทำสำนวนการสอบสวน  และ
                           -   ลงรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
                           -   รีบทำการสอบสวนโดยมิชักช้า
                    (๒)  กรณีเหตุซึ่งมิได้เกิดในเขตอำนาจของตน หรือ ที่เกิดนอกราชอาณาจักร พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ 
                           -   พนักงานสอบสวนจะรับแจ้งความโดยลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ก่อน
                           -   แล้วส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่รับผิดชอบ เพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เมื่อฝ่ายปกครองเข้าควบคุมการสอบสวน

              คดีที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ 
หรือปลัดผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวน 

              ตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.๒๕๒๓ ข้อ ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดย ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๖ ข้อ ๔ 
             ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบรายงานรายละเอียดตามลำดับชั้น ถึง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใน ๗ วัน พร้อมทั้งความเห็นไปด้วย (หนังสือ ตร ที่ ๐๐๑๑.๒๕/๕๐๑๔ ลง ๒๑ พ.ย.๒๕๕๖) และ (หนังสือ ตร ที่ ๐๐๑๑.๒๕/๕๑๐๕ ลง ๒๗ พ.ย.๒๕๕๖)  
            ส่วนคดีอาญาที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ หรือมีข้อตกลงพิเศษกับหน่วยงานราชการอื่น เกี่ยวกับวิธีการสอบสวน พนักงานสอบสวนและระยะเวลาการสอบสวน ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ข้อตกลงและระเบียบนั้น ๆ ที่ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการไว้โดยเคร่งครัดด้วย (ตัวอย่างเช่น กฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พ.ศ.๒๕๕๔ (ดูที่นี่) และ กฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พ.ศ.๒๕๕๕ ฉบับที่ ๒ (ดูที่นี่))

วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

มาตรการควบคุม ตรวจสอบ และเร่งรัดการสอบสวน

มาตรการควบคุม ตรวจสอบ และเร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา   

           การควบคุม ตรวจสอบ หลังจากการรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ การควบคุมการสอบสวน และระยะเวลาการสอบสวน  (โดยย่อ)    มีดังนี้

1. การควบคุม ตรวจสอบ หลังจากการรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ
       -    พงส. ต้องบันทึกข้อมูลลงในบันทึกการตรวจสำนวนการสอบสวน ติดไว้ที่หน้าปกสำนวนการสอบสวน  แล้วให้เสนอ หน.งานสอบสวน  ตรวจสอบ แนะนำ สั่งการเบื้องต้น ภายใน 3 วัน
       -    เมื่อ หน.งานสอบสวน หรือ ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป แนะนำสั่งการไว้ในบันทึกนั้นแล้ว  พงส. ต้องรีบดำเนินการโดยเร็ว พร้อมบันทึกผลการดำเนินการ และเหตุขัดข้องไว้  และบันทึกพนักงานสอบสวน ไว้เป็นหลักฐานด้วย
       -    หน.หน่วยงาน มีหน้าที่ จัดทำสมุดสถิติคดีที่ต้องทำสำนวนการสอบสวน ไว้ประจำที่ทำการ
       -    พงส. มีหน้าที่จัดทำสมุดบันทึกคดีที่ตนสอบสวน และเตรียมสำนวนการสอบสวน พร้อมให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นตรวจได้ตลอดเวลา

2.  การควบคุมการสอบสวน
        -    ความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้างหรือเชื่อว่าได้เกิด หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับ ภายในเขตอำนาจของ พงส.  หากได้เริ่มสอบสวนไปแล้ว พงส.ผู้นั้นเป็น พงส.ผู้รับผิดชอบ  เว้นแต่ พงส.ฝ่ายปกครองได้ทำการสอบสวนคดีความผิดอาญาตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ แล้ว
        -   แต่ถ้าเป็น พงส. ฝ่ายอื่นซึ่งไม่ใช่ตำรวจ ประสงค์เข้าร่วมสอบสวน ให้ หน.หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน รายงานตามลำดับชั้นถึง ผบ.ตร. เพื่อขออนุมัติ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนด
        -    ให้ผู้บังคับบัญชาจัดการควบคุม ตรวจสอบ แนะนำให้การสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนโดยเรียบร้อย มิชักช้า หากมีเหตุผลอันสมควรเพื่อความเรียบร้อยจะเข้าดำเนินการสอบสวนด้วยตนเองก็ได้
ผู้มีอำนาจควบคุม ตรวจสอบ และเร่งรัดการสอบสวน
            (1) หน.งานสอบสวน  ตรวจสำนวนการสอบสวนและสมุดบันทึกคดี ทุกระยะ ๆ ละไม่เกิน 15 วัน
            (2) หน.หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน  ตรวจสำนวนการสอบสวน ทุกระยะ ๆ ละ ไม่เกิน 30 วัน
            (3) ผบก. หรือ รอง ผบก. หรือ พงส.ผชช. ที่ได้รับมอบหมาย ตรวจสำนวนการสอบสวน ทุกระยะ ๆ ละ ไม่เกิน 3 เดือน
         -   ให้ พงส. เก็บบันทึกการตรวจสำนวนการสอบสวนไว้กับสำเนาสำนวนฯ และมอบให้ หน.หน่วยงาน เก็บรักษาไว้อย่างเป็นระบบ
         -   หัวหน้าพนักงานสอบสวน ได้แก่  หน.สภ. , หน.หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน , ผบก. , ผบช. รวมถึง ผู้รักษาราชการแทนในตำแหน่งข้างต้น เป็น หน.พงส. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสี่ และ มาตรา 140  (ป.วิ อาญา ม.18 ว.4 "ในเขตท้องที่ใดมี พงส. หลายคน การดำเนินการสอบสวนให้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในท้องที่นั้นหรือผู้รักษาการแทน // ม.140 "เมื่อ พงส.ผู้รับผิดชอบในการสอบสวน เห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (1) ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด...")
         -   ส่วน ผบ.ตร. หรือ ผู้รักษาราชการแทน เป็น หน.พงส.ทั่วราชอาณาจักร และมีอำนาจสั่งการเกี่ยวกับคดีในทุกกรณี และ
         -   ให้ หัวหน้าพนักงานสอบสวน มีอำนาจมอบหมายให้ข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่ ร.ต.ต.หรือเทียบเท่าขึ้นไปในสังกัด ทำหน้าที่สอบสวนในเขตท้องที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด

อำนาจการควบคุมการสอบสวน

              ในกรณีมีการร้องเรียนขอความเป็นธรรม หรือเห็นว่าเป็นการสมควร  ผบก. ผบช. ผบ.ตร. หรือผู้รักษาราชการแทน แล้วแต่กรณี เรียกให้ หน.หน่วยงาน พร้อมสำนวนการสอบสวน มาตรวจพิจารณา ให้คำแนะนำและเร่งรัดการดำเนินการได้ ถ้าเห็นว่าไม่เป็นผล มีอำนาจเข้าควบคุมการสอบสวน สั่ง พงส. ตามที่เห็นควร สั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว สั่งเปลี่ยนตัว พงส. หรือสั่ง พงส.อื่น เข้าร่วมทำการสอบสวน
ข้อควรปฏิบัติในการตรวจสำนวนการสอบสวน
             (1)  ตรวจความสมบูรณ์ว่า เป็น พงส. มีอำนาจหน้าที่และเขตอำนาจ ตลอดจนมีข้อจำกัดหรือไม่ , มีผู้เสียหาย ผู้ร้องทุกข์หรือผู้กล่าวโทษหรือไม่ , คดีความผิดอันยอมความได้ มีผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ไว้หรือไม่ การมอบอำนาจให้ร้องทุกข์เป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่ คดีขาดอายุความหรือไม่ เป็นต้น
             (2)  ตรวจพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ว่า คำให้การ พยานเอกสาร บันทึกรายงานของเจ้าหน้าที่ ร่องรอยพยานวัตถุ ได้แสดงข้อเท็จจริงอย่างใด รับฟังเป็นข้อยุติได้แล้วหรือไม่ มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด มีข้อพิรุธ หรือข้อโต้แย้งอย่างไร
                   เพื่อจะได้แนะนำ สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม เพื่อปรับกับข้อกฎหมายว่า ได้มีการกระทำผิดตามที่กล่าวหาหรือไม่ ผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดตามบทบัญญัติใด มีเหตุอันควรไม่ต้องรับโทษ ยกเว้นโทษ ยกโทษ ลดโทษหรือเพิ่มโทษหรือไม่ มีเหตุอันควรขอให้ริบทรัพย์สิน ตลอดจนขอให้ใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยหรือไม่
                   หากยังมีความบกพร่องหรือข้อสงสัยบางประการยังไม่เป็นที่กระจ่างชัด ผู้ตรวจสำนวนจะต้องสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมจนสิ้นกระแสความ

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โครงสร้างของคำสั่ง ตร.ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖

            คำสั่ง ตร.ที่  419/2556  (download)

            เรื่อง  การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา  การทำสำนวน  และมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวน
            คำสั่ง มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไป
            พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว  ผบ.ตร. ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556

โครงสร้าง เป็นการรวมเอาระเบียบ กฎหมาย ต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายอยู่มารวมเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก คือ
1. การอำนวยความยุติธรรม
2. การทำสำนวน
3. มาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวน

เหตุผล ที่มีการออกคำสั่งใหม่ ปรับปรุงแก้ไข ได้แก่
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีบทบัญญัติเรื่อง สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ มาตรา 29 , 32 , 33 , 34, 35, 36 , 41 , 45 และ 56
2. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่

บทความ ใน คำสั่ง ตร. ที่ 419/2556  ประกอบด้วย

บทที่ 1    +   บททั่วไป  ประกอบด้วย
                      -   การยกเลิกคำสั่งเดิมของ ตร. รวมตลอดถึงหนังสือคำสั่งต่าง ๆ
                      -   ความหมาย ของคำที่ใช้ในคำสั่ง

บทที่ 2    +   การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา    ประกอบด้วย
                      -   การรับแจ้งความ
                      -   การค้น
                      -   การจับ
                      -   การควบคุม
                      -   การปล่อยชั่วคราว
                      -   การสอบสวน

บทที่ 3   +   การทำสำนวนการสอบสวน       ประกอบด้วย
                      -   การจำแนกสำนวนตามสารบบ
                      -   การจำแนกตามข้อเท็จจริง
                      -   การทำสำนวนการสอบสวน
                                   
บทที่ 4   +   มาตรการควบคุม ตรวจสอบ และเร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา    ประกอบด้วย
                      -   การควบคุม ตรวจสอบ หลังจากรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ
                      -   การควบคุมการสอบสวน
                      -   ระยะเวลาการสอบสวน
                      -   การสอบสวนกรณีพิเศษ
                      -   การควบคุมการสอบสวนของ พงส. ในสังกัด บช.น.  บช.ก.  บช.ปส.  และ  สตม.
                      -   การตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติ

บทที่ 5    +   แบบพิมพ์ที่ใช้เกี่ยวกับคดี       ประกอบด้วย
                      -   จำนวน 92 แบบ