ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี
ลักษณะ 13
การรายงานคดีอาญา
บทที่ 3
คำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ
ข้อ 1 คำร้องทุกข์ หมายความถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่ามีผู้กระทำผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษข้อ 2 ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือหรือต่อตำรวจซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวนและเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฏหมายก็ได้
ข้อ 3 คำร้องทุกข์นั้นต้องปรากฏชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับ และชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิด เท่าที่จะบอกได้
คำร้องทุกข์นี้จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยปากก็ได้ ถ้าเป็นหนังสือจะต้องมีวันเดือนปีและลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยปากให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปี และลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น
ข้อ 4 เมื่อมีหนังสือร้องทุกข์ยื่นต่อตำรวจแล้ว ให้รีบจัดการส่งไปยังพนักงานสอบสวนและจะจดหมายเหตุอะไรไปบ้างเพื่อประโยชน์ของพนักงานสอบสวนก็ได้
เมื่อมีคำร้องทุกข์ด้วยปาก ให้รีบจัดการอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียหายไปพบพนักงานสอบสวนและดำเนินการตามวรรคแรก
ในกรณีเร่งร้อน ตำรวจนั้นจะจดบันทึกเหตุการณ์ไว้หรือจากจดหมายเหตุอะไรไปบ้างเพื่อประโยชน์ของพนักงานสอบสวนก็ได้ แล้วให้รีบส่งไปยังพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไปโดยไม่ชักช้า
ข้อ 5 เมื่อพนักงานสอบสวนหรือตำรวจได้กระทำการสืบสวนหรือสอบสวนไปทั้งหมดหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดตามคำขอร้องให้ช่วยเหลือ ให้ตกเป็นหน้าที่ของพนักงานนั้นจัดการให้มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ
ข้อ 6 ผู้ร้องทุกข์จะแก้คำร้องทุกข์ระยะใด หรือจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ ในคดีซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว (ความผิดอันยอมความได้) ถึงแม้จะมีการถอคำร้องทุกข์แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวนต่อไป
ข้อ 7 คำกล่าวโทษ หมายความถึง การที่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดีได้กระทำผิดขึ้น
ข้อ 8 เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับคำกล่าวโทษจะไม่บันทึกคำกล่าวโทษในกรณีต่อไปนี้ก็ได้
8.1 เมื่อผู้กล่าวโทษไม่ยอมแจ้งว่าเขาคือใคร
8.2 เมื่อคำกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์
คำกล่าวโทษซึ่งบันทึกแล้วแต่ผู้กล่าวโทษไม่ยอมลงลายมือชื่อ เจ้าพนักงานผู้รับคำกล่าวโทษจะไม่จัดการแก่คำกล่าวโทษนั้นก็ได้
ให้นำความในข้อ 2 ถึง 6 มาบังคับโดยอนุโลมในเรื่องคำกล่าวโทษ
ข้อ 9 คำกล่าวโทษตามข้อ 8 พนักงานสอบสวนควรจะต้องสอบสวนว่า มีมูลความผิดเป็นอาญาแผ่นดินหรือไม่ ถ้าปรากฏเป็นความผิดอาญาแผ่นดินแล้ว เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการต่อไป
ข้อ 10 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
10.1 ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
10.2 ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภรรยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
10.3 ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลเฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น
10.4 ผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายเป็นหนังสือ
10.5 บุคคลซึ่งศาลได้ตั้งเป็นผู้แทนเฉพาะคดี สำหรับคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือเป็นผู้วิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถไม่มีผู้อนุบาล หรือซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถนั้น ๆ
อำนาจจัดการแทน หมายถึงการร้องทุกข์และการยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัว (ความผิดอันยอมความได้)
ข้อ 11 เมื่อมีผู้แจ้งความกับพนักงานสอบสวน ถ้าการแจ้งความนั้นเป็นคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามกฏหมาย ให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามระเบียบเพื่อทำการสอบสวนดำเนินคดีต่อไป หากการแจ้งความนั้นไม่ใช่เป็นคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ หรือเป็นเรื่องทางแพ่งให้พนักงานสอบสวนลงรายงานประจำวันชี้แจงหลักกฏหมายไว้เป็นหลักฐาน แล้วแจ้งให้ผู้แจ้งความทราบ เว้นแต่ กรณีที่การแจ้งความนั้นไม่เป็นคำร้องทุกข์แต่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนควรจะต้องสอบสวนว่ามีมูลความผิดเป็นอาญาแผ่นดินหรือไม่ ถ้าปรากฏเป็นความผิดอาญาแผ่นดินแล้ว เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการต่อไป
ในกรณีที่ คำแจ้งความนั้นยังไม่แน่ชัดว่าเป็นคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษหรือเป็นเรื่องทางแพ่ง ให้พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งลงเรื่องราวที่รับแจ้งไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี แล้วรีบเสนอเรื่องที่รับแจ้งนั้นพร้อมมีความเห็นให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นถึงหัวหน้าสถานีตำรวจหรืองานหรือแผนกเพื่อพิจารณาสั่งการภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี
ส่วนคดีอาญาที่เลิกกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 เมื่อผู้กระทำผิดยินยอมเสียค่าปรับในอัตราอย่างสูง หรือผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้เปรียบเทียบแล้ว ก็ไม่ต้องรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษในสมุดสารบบการดำเนินคดี เว้นแต่คดีอาญาทั่วไปหรือคดีจราจรทางบกที่ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อผู้ต้องหายินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในเวลาอันสมควรแต่ไม่เกิน 15 วันให้รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษทุกคดี
ข้อ 12 ถ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนท้องที่โอนการสอบสวนไปให้พนักงานสอบสวนอื่นทำการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนหน่วยงานที่รับโอนคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษในสมุดสารบบการดำเนินคดีโดยให้หมายเหตุด้วยว่าคดีที่รับโอนนั้น มาจากหน่วยงานใด หมายเลขคดีใด ส่วนพนักงานสอบสวนที่ได้โอนการสอบสวนไปนั้น ให้หมายเหตุในสมุดสารบบการดำเนินคดี ช่องผลคดี ว่าได้โอนไปให้พนักงานสอบสวนหน่วยใด ตามคำสั่งของผู้ใด เมื่อวันเดือนปีใด แล้วรายงานตามลำดับชั้นจนถึงกองบัญชาการหรือตำรวจภาคแล้วแต่กรณี เพื่อถอดถอนหมายเลขคดี และสำเนาส่งก็ยังศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศปรับข้อมูลให้ถูกต้องโดยมิชักช้า
ถ้าเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนหน่วยงานอื่นร่วมทำการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนท้องที่ ให้พนักงานสอบสวนท้องที่จัดการให้มีคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ
ถ้าพนักงานสอบสวนหลายหน่วยงานร่วมทำการสอบสวนโดยไม่มีพนักงานสอบสวนท้องที่ร่วมด้วย ให้พนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในการสอบสวนนั้นเป็นผู้รับผิดชอบจัดให้มีคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ
ข้อ 13 กรณีที่รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษแล้ว ภายหลังการสอบสวนปรากฏว่าไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบรายงานตามลำดับชั้นจนถึงกองบัญชาการหรือตำรวจภาค แล้วแต่กรณีเพื่อขอถอนหมายเลขคดีและสำเนาส่งศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศปรับข้อมูลให้ถูกต้องโดยไม่ชักช้า
ข้อ 14 ห้ามคัดลอกหรือสำเนาข้อความใดใดที่บันทึกไว้ในแบบรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษในสมุดสารบบการดำเนินคดี เว้นแต่ ผู้เสียหายผู้เกี่ยวข้องหรือผู้รับมอบอำนาจประสงค์จะคัดลอกหรือสำเนาคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษเพื่อนำไปเป็นหลักฐาน ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือสารวัตรหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้พิจารณาอนุญาต โดยให้นายตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นผู้รับรองสำเนา
ข้อ 15 เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษไว้ถูกต้องตามระเบียบแล้ว ให้พนักงานสอบสวนออกหลักฐานการรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามแบบในระเบียบนี้ มอบให้ผู้เสียหายหรือผู้แจ้งเพื่อใช้ในการติดต่อ
(ที่มา : ระเบียบ ตร. ว่าด้วยการรายงานคดี (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2537 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2537)