วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

มาตรการควบคุม ตรวจสอบ และเร่งรัดการสอบสวน

มาตรการควบคุม ตรวจสอบ และเร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา   

           การควบคุม ตรวจสอบ หลังจากการรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ การควบคุมการสอบสวน และระยะเวลาการสอบสวน  (โดยย่อ)    มีดังนี้

1. การควบคุม ตรวจสอบ หลังจากการรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ
       -    พงส. ต้องบันทึกข้อมูลลงในบันทึกการตรวจสำนวนการสอบสวน ติดไว้ที่หน้าปกสำนวนการสอบสวน  แล้วให้เสนอ หน.งานสอบสวน  ตรวจสอบ แนะนำ สั่งการเบื้องต้น ภายใน 3 วัน
       -    เมื่อ หน.งานสอบสวน หรือ ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป แนะนำสั่งการไว้ในบันทึกนั้นแล้ว  พงส. ต้องรีบดำเนินการโดยเร็ว พร้อมบันทึกผลการดำเนินการ และเหตุขัดข้องไว้  และบันทึกพนักงานสอบสวน ไว้เป็นหลักฐานด้วย
       -    หน.หน่วยงาน มีหน้าที่ จัดทำสมุดสถิติคดีที่ต้องทำสำนวนการสอบสวน ไว้ประจำที่ทำการ
       -    พงส. มีหน้าที่จัดทำสมุดบันทึกคดีที่ตนสอบสวน และเตรียมสำนวนการสอบสวน พร้อมให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นตรวจได้ตลอดเวลา

2.  การควบคุมการสอบสวน
        -    ความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้างหรือเชื่อว่าได้เกิด หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับ ภายในเขตอำนาจของ พงส.  หากได้เริ่มสอบสวนไปแล้ว พงส.ผู้นั้นเป็น พงส.ผู้รับผิดชอบ  เว้นแต่ พงส.ฝ่ายปกครองได้ทำการสอบสวนคดีความผิดอาญาตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ แล้ว
        -   แต่ถ้าเป็น พงส. ฝ่ายอื่นซึ่งไม่ใช่ตำรวจ ประสงค์เข้าร่วมสอบสวน ให้ หน.หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน รายงานตามลำดับชั้นถึง ผบ.ตร. เพื่อขออนุมัติ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนด
        -    ให้ผู้บังคับบัญชาจัดการควบคุม ตรวจสอบ แนะนำให้การสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนโดยเรียบร้อย มิชักช้า หากมีเหตุผลอันสมควรเพื่อความเรียบร้อยจะเข้าดำเนินการสอบสวนด้วยตนเองก็ได้
ผู้มีอำนาจควบคุม ตรวจสอบ และเร่งรัดการสอบสวน
            (1) หน.งานสอบสวน  ตรวจสำนวนการสอบสวนและสมุดบันทึกคดี ทุกระยะ ๆ ละไม่เกิน 15 วัน
            (2) หน.หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน  ตรวจสำนวนการสอบสวน ทุกระยะ ๆ ละ ไม่เกิน 30 วัน
            (3) ผบก. หรือ รอง ผบก. หรือ พงส.ผชช. ที่ได้รับมอบหมาย ตรวจสำนวนการสอบสวน ทุกระยะ ๆ ละ ไม่เกิน 3 เดือน
         -   ให้ พงส. เก็บบันทึกการตรวจสำนวนการสอบสวนไว้กับสำเนาสำนวนฯ และมอบให้ หน.หน่วยงาน เก็บรักษาไว้อย่างเป็นระบบ
         -   หัวหน้าพนักงานสอบสวน ได้แก่  หน.สภ. , หน.หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน , ผบก. , ผบช. รวมถึง ผู้รักษาราชการแทนในตำแหน่งข้างต้น เป็น หน.พงส. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสี่ และ มาตรา 140  (ป.วิ อาญา ม.18 ว.4 "ในเขตท้องที่ใดมี พงส. หลายคน การดำเนินการสอบสวนให้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในท้องที่นั้นหรือผู้รักษาการแทน // ม.140 "เมื่อ พงส.ผู้รับผิดชอบในการสอบสวน เห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (1) ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด...")
         -   ส่วน ผบ.ตร. หรือ ผู้รักษาราชการแทน เป็น หน.พงส.ทั่วราชอาณาจักร และมีอำนาจสั่งการเกี่ยวกับคดีในทุกกรณี และ
         -   ให้ หัวหน้าพนักงานสอบสวน มีอำนาจมอบหมายให้ข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่ ร.ต.ต.หรือเทียบเท่าขึ้นไปในสังกัด ทำหน้าที่สอบสวนในเขตท้องที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด

อำนาจการควบคุมการสอบสวน

              ในกรณีมีการร้องเรียนขอความเป็นธรรม หรือเห็นว่าเป็นการสมควร  ผบก. ผบช. ผบ.ตร. หรือผู้รักษาราชการแทน แล้วแต่กรณี เรียกให้ หน.หน่วยงาน พร้อมสำนวนการสอบสวน มาตรวจพิจารณา ให้คำแนะนำและเร่งรัดการดำเนินการได้ ถ้าเห็นว่าไม่เป็นผล มีอำนาจเข้าควบคุมการสอบสวน สั่ง พงส. ตามที่เห็นควร สั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว สั่งเปลี่ยนตัว พงส. หรือสั่ง พงส.อื่น เข้าร่วมทำการสอบสวน
ข้อควรปฏิบัติในการตรวจสำนวนการสอบสวน
             (1)  ตรวจความสมบูรณ์ว่า เป็น พงส. มีอำนาจหน้าที่และเขตอำนาจ ตลอดจนมีข้อจำกัดหรือไม่ , มีผู้เสียหาย ผู้ร้องทุกข์หรือผู้กล่าวโทษหรือไม่ , คดีความผิดอันยอมความได้ มีผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ไว้หรือไม่ การมอบอำนาจให้ร้องทุกข์เป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่ คดีขาดอายุความหรือไม่ เป็นต้น
             (2)  ตรวจพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ว่า คำให้การ พยานเอกสาร บันทึกรายงานของเจ้าหน้าที่ ร่องรอยพยานวัตถุ ได้แสดงข้อเท็จจริงอย่างใด รับฟังเป็นข้อยุติได้แล้วหรือไม่ มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด มีข้อพิรุธ หรือข้อโต้แย้งอย่างไร
                   เพื่อจะได้แนะนำ สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม เพื่อปรับกับข้อกฎหมายว่า ได้มีการกระทำผิดตามที่กล่าวหาหรือไม่ ผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดตามบทบัญญัติใด มีเหตุอันควรไม่ต้องรับโทษ ยกเว้นโทษ ยกโทษ ลดโทษหรือเพิ่มโทษหรือไม่ มีเหตุอันควรขอให้ริบทรัพย์สิน ตลอดจนขอให้ใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยหรือไม่
                   หากยังมีความบกพร่องหรือข้อสงสัยบางประการยังไม่เป็นที่กระจ่างชัด ผู้ตรวจสำนวนจะต้องสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมจนสิ้นกระแสความ


           3.  ระยะเวลาการสอบสวน 
                3.1  สำนวนคดีอาญาทั่วไป และสำนวนคดีจราจรทางบก
                       คดีไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด บ่งเป็น 2 กรณี
                       (1)  ไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ต้องทำการสืบสวนสอบสวนต่อไป
                              -  คดีอาญาทั่วไป คดีจราจรทางบก จะต้องสืบสวนสอบสวนไม่น้อยกว่า 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่รับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ
                              -  คดีอุกฉกรรจ์ จะต้องสืบสวนสอบสวนไม่น้อยกว่า 1 ปี  นับตั้งแต่วันที่รับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ
                     ให้เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ผบก. หรือ ผบช. สำหรับหน่วยงานซึ่งขึ้นตรงต่อ บช. แล้วส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการ
                      (2)  มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ต้องทำการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม
                             -  ให้ พงส. สืบสวนสอบสวนได้ภายในอายุความ และภายใน 30 วัน นับตั้งวันครบระยะเวลาตาม (1) ให้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมด้วยเหตุผลหรือความจำเป็นไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ผบก. หรือ ผบช. สำหรับหน่วยงานซึ่งขึ้นตรงต่อ บช.  ให้พิจารณาอนุมัติขยายเวลาได้ครั้งแรกไม่เกิน 3 เดือน หลังจากครบกำหนดเวลาแล้ว ให้ขอขยายไปยัง หน.หน่วยงาน เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน ตามเหตุแห่งความจำเป็นจนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น เว้นแต่ ผบก. หรือ ผบช. สำหรับหน่วยงานซึ่งขึ้นตรงต่อ บช.  จะสั่งการเป็นอย่างอื่น
                   คดีที่รู้ตัวผู้กระทำความผิดแต่เรียกหรือจับตัวยังไม่ได้   แบ่งเป็น  2  กรณี
                   (1)  ไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ต้องทำการสืบสวนสอบสวนต่อไป
                           -  คดีอาญาทั่วไป คดีจราจรทางบก จะต้องสืบสวนสอบสวนไม่น้อยกว่า 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่รับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ
                           -  คดีอุกฉกรรจ์ จะต้องสืบสวนสอบสวนไม่น้อยกว่า 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่รับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ                   
                   (2)   มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ต้องทำการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม
                           -  ให้ พงส. สืบสวนสอบสวนได้ภายในอายุความ และภายใน 10 วัน นับตั้งวันครบระยะเวลาตาม (1) ให้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมด้วยเหตุผลหรือความจำเป็นไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ผบก. หรือ ผบช. สำหรับหน่วยงานซึ่งขึ้นตรงต่อ บช.  ให้พิจารณาอนุมัติขยายเวลาได้ครั้งแรกไม่เกิน 3 เดือน หลังจากครบกำหนดเวลาแล้ว ให้ขอขยายไปยัง หน.หน่วยงาน เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน ตามเหตุแห่งความจำเป็นจนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น เว้นแต่ ผบก. หรือ ผบช. สำหรับหน่วยงานซึ่งขึ้นตรงต่อ บช.  จะสั่งการเป็นอย่างอื่น
                 คดีที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัว หรือถูกผัดฟ้อง หรือถูกผัดฟ้องฝากขัง หรือฝากขังในระหว่างสอบสวน
                 ให้สอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อนที่จะครบอำนาจผัดฟ้อง หรือฝากขัง โดยให้กระทำในกรณีความจำเป็นเพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้นเท่านั้น กรณีที่ศาลไม่อนุญาต หรือขาดผัดฟ้อง ฝากขัง หรือเมื่อครบกำหนดแล้ว แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ให้ หน.หน่วยงาน รีบรายงาน ผบก. หรือ ผบช. สำหรับหน่วยงานซึ่งขึ้นตรงต่อ บช. ทราบทันที เพื่อหาทางแก้ไขมิให้การสอบสวนต้องเสียหาย และให้พิจารณาว่า พงส. มีข้อบกพร่องในการสอบสวนหรือไม่
                 คดีที่ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว
                 คดีอาญาทั่วไป คดีจราจรทางบก ให้เสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน และคดีอุกฉกรรจ์ ให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว หากมีเหตุจำเป็นให้เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ผบก. หรือ ผบช. สำหรับหน่วยงานซึ่งขึ้นตรงต่อ บช.  มีอำนาจพิจารณาอนุมัติขยายเวลาการสอบสวนต่อไปอีกได้ตามความจำเป็นได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน รวมแล้วต้องไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว โดยบันทึกเหตุแห่งความจำเป็นในการอนุมัติแต่ละครั้งไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย
                 เมื่อทำการสอบสวนครบ 6 เดือน แต่การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ให้ หน.หน่วยงาน บันทึกเหตุแห่งความจำเป็นไว้ในสำนวนการสอบสวนแล้วส่งตัวผู้ต้องหาไปศาลเพื่อยื่นคำร้องขอหมายขังผู้ต้องหา ตามบทบัญญัติ มาตรา ๘๗ วรรคสี่ ถึงวรรคเก้า แห่ง ป. วิ อาญา โดยให้ หน.หน่วยงาน หรือ หน.พนักงานสืบสวนสอบสวน ไปด้วยตนเอง หากศาลไม่อนุญาต ให้รีบรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ผบก. หรือ ผบช. สำหรับหน่วยงานซึ่งขึ้นตรงต่อ บช. ให้หาทางแก้ไข และพิจารณาว่าพนักงานสอบสวนมีข้อบกพร่องในการสอบสวนจนเป็นเหตุให้ศาลไม่อนุญาตหรือไม่ และรีบรายงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบทันทีด้วย                        
                 คดีที่ผู้ต้องหาถูกแจ้งข้อหาโดยไม่มีการจับกุม
                 คดีอาญาทั่วไป คดีจราจรทางบก ให้เสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน และคดีอุกฉกรรจ์ ให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่แจ้งข้อหาโดยไม่มีการจับกุม หากมีเหตุจำเป็นให้เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ผบก. หรือ ผบช. สำหรับหน่วยงานซึ่งขึ้นตรงต่อ บช.  มีอำนาจพิจารณาอนุมัติขยายเวลาการสอบสวนต่อไปอีกได้ตามความจำเป็นได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน รวมแล้วต้องไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่แจ้งข้อหาโดยไม่มีการจับกุม โดยบันทึกเหตุแห่งความจำเป็นในการอนุมัติแต่ละครั้งไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย
             3.2  สำนวนชันสูตรพลิกศพ 
                      -   ในกรณีที่มีความตายผิดธรรมชาติ (โดยทั่วไป) ให้ทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากมีเหตุจำเป็นให้เสนอ ผบก. พิจารณาอนุมัติขยายเวลาการสอบสวนได้ตามความเหตุผลและความจำเป็น โดยให้ พงส. บันทึกเหตุผลและความจำเป็นทุกครั้งไว้ในบันทึกพนักงานสอบสวน        
                     -   ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน.. หรือตายอยู่ในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน..  ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่  ให้ รอง ผบก. หรือ พงส.ผชช. ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ผบก. ทำการสอบสวนด้วยตนเอง และให้แจ้งพนักงานอัยการเข้าร่วมกับสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน ๒ ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน โดยขอขยายไปยัง ผบก. พร้อมเหตุขัดข้องที่สอบสวนไม่เสร็จ ให้ ผบก.พิจารณาอนุม้ติขยายเวลาได้ตามความจำเป็น และให้ พงส. บันทึกเหตุผลและความจำเป็นทุกครั้งไว้ในบันทึกพนักงานสอบสวน
             3.3  คดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน ระยะเวลาสอบสวนให้เป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด และรีบสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว