วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การขอออกหมายจับ

บทที่ ๓ การทำสำนวนการสอบสวน
ข้อ ๓.๓ หมายจับ

               ระเบียบการขอให้ศาลออกหมายจับ ให้ปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้
               ๑.  ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยแนวปฏิบัติในการออกหมายจับและหมายค้นในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๕
               ๒.  ข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ.๒๕๔๘ (คลิกที่นี่)
               ๓.  แนวทางที่ศาลขอความร่วมมือให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการ

               การยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับ ในกรณีที่ต้องระบุเหตุผลเป็นพิเศษไว้ในหมายจับ มีดังนี้
               ๑.  พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกขังอยู่ และได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวไป ก่อนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ ต่อมา พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปฟ้อง แต่พนักงานสอบสวนไม่สามารถส่งตัวได้ เนื่องจากผู้ต้องหาหลบหนี พนักงานสอบสวนจึงต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลออกหมายจับ
               ๒. การขอให้ศาลออกหมายจับในคดีความผิดเกี่ยวกับเช็ค ต้องระบุจำนวนเช็ค วันเวลาที่กระทำความผิด และจำนวนเงินที่สั่งจ่าย เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว เป็นต้น
              กรณีดังกล่าวนี้ ในหมายจับของศาลที่มีข้อความว่า "ด้วยผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ..." ให้พนักงานสอบสวนระบุเหตุผลพิเศษโดยละเอียดไว้ในหมายจับที่มีข้อความดังกล่าวด้วย

              ให้พนักงานสอบสวน และผู้บังคับบัญชาซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ดำเนินการดังนี้
              ๑.  ตรวจสอบพยานหลักฐานในสำนวน ว่ามีหลักฐานหนักแน่นเพียงพอว่า บุคคลที่จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับนั้น น่าจะได้กระทำความผิดตามข้อหาหรือไม่ หากผู้บังคับบัญชาเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่หนักแน่นเพียงพอ ก็ให้สั่งพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมเสียก่อน
              ๒.  รวมทั้งตรวจสอบกลั่นกรองตัวบุคคลที่จะขอให้ศาลออกหมายจับ เช่น การออกหมายจับบุคคลตามภาพถ่ายหรือภาพเขียนเหมือนจริง การออกหมายจับบุคคลที่มีชื่อและชื่อนามสกุลซ้ำกันว่า บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ต้องหาที่จะขอให้ศาลออกหมายจับหรือไม่  และ
              ๓.  ให้หัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน ผู้บังคับการ หรือผู้บัญชาการ แล้วแต่กรณี ลงนามในคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับในฐานะผู้ร้อง ก่อนมอบหมายให้พนักงานสอบสวนไปยื่นคำร้องต่อศาล
         
               หลังจากที่ศาลออกหมายจับแล้ว หากปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนว่า
               -  ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับไม่ใช่ผู้กระทำผิด (ออกหมายจับผิดตัว) หรือ
               -  การกระทำของผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาตามหมายจับ ไม่เป็นความผิด
               ให้พนักงานสอบสวนรีบยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนหมายจับ และมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา จากนั้น ส่งความเห็นพร้อมสำนวนหรือเอกสารการสอบสวนเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ไปยังพนักงานอัยการต่อไป