บทที่ ๓ การทำสำนวนการสอบสวน
ข้อ ๓.๓ หมายจับ
ข้อ ๓.๓ หมายจับ
ระเบียบการขอให้ศาลออกหมายจับ ให้ปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้
๑. ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยแนวปฏิบัติในการออกหมายจับและหมายค้นในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๕
๒. ข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ.๒๕๔๘ (คลิกที่นี่)
๓. แนวทางที่ศาลขอความร่วมมือให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการ
การยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับ ในกรณีที่ต้องระบุเหตุผลเป็นพิเศษไว้ในหมายจับ มีดังนี้
๑. พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกขังอยู่ และได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวไป ก่อนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ ต่อมา พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปฟ้อง แต่พนักงานสอบสวนไม่สามารถส่งตัวได้ เนื่องจากผู้ต้องหาหลบหนี พนักงานสอบสวนจึงต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลออกหมายจับ
๒. การขอให้ศาลออกหมายจับในคดีความผิดเกี่ยวกับเช็ค ต้องระบุจำนวนเช็ค วันเวลาที่กระทำความผิด และจำนวนเงินที่สั่งจ่าย เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว เป็นต้น
กรณีดังกล่าวนี้ ในหมายจับของศาลที่มีข้อความว่า "ด้วยผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ..." ให้พนักงานสอบสวนระบุเหตุผลพิเศษโดยละเอียดไว้ในหมายจับที่มีข้อความดังกล่าวด้วย
ให้พนักงานสอบสวน และผู้บังคับบัญชาซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ดำเนินการดังนี้
๑. ตรวจสอบพยานหลักฐานในสำนวน ว่ามีหลักฐานหนักแน่นเพียงพอว่า บุคคลที่จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับนั้น น่าจะได้กระทำความผิดตามข้อหาหรือไม่ หากผู้บังคับบัญชาเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่หนักแน่นเพียงพอ ก็ให้สั่งพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมเสียก่อน
๒. รวมทั้งตรวจสอบกลั่นกรองตัวบุคคลที่จะขอให้ศาลออกหมายจับ เช่น การออกหมายจับบุคคลตามภาพถ่ายหรือภาพเขียนเหมือนจริง การออกหมายจับบุคคลที่มีชื่อและชื่อนามสกุลซ้ำกันว่า บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ต้องหาที่จะขอให้ศาลออกหมายจับหรือไม่ และ
๓. ให้หัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน ผู้บังคับการ หรือผู้บัญชาการ แล้วแต่กรณี ลงนามในคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับในฐานะผู้ร้อง ก่อนมอบหมายให้พนักงานสอบสวนไปยื่นคำร้องต่อศาล
หลังจากที่ศาลออกหมายจับแล้ว หากปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนว่า
- ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับไม่ใช่ผู้กระทำผิด (ออกหมายจับผิดตัว) หรือ
- การกระทำของผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาตามหมายจับ ไม่เป็นความผิด
ให้พนักงานสอบสวนรีบยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนหมายจับ และมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา จากนั้น ส่งความเห็นพร้อมสำนวนหรือเอกสารการสอบสวนเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ไปยังพนักงานอัยการต่อไป
กรณีมีการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ หากปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนว่า
- ผู้ต้องหาที่ถูกออหมายจับไม่ใช่ผู้กระทำความผิด (ออกหมายจับผิดตัว) หรือ
- การกระทำของผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาตามหมายจับ ไม่เป็นความผิด
ให้พนักงานสอบสวนรีบรายงานหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน เพื่อปล่อยตัวผู้ต้องหา หรือยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวผู้ต้องหา แล้วรวบรวมพยานหลักฐานมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา จากนั้น ส่งความเห็นพร้อมสำนวนหรือเอกสารการสอบสวนเพิ่มเติม แล้วแต่กรณีไปยังพนักงานอัยการต่อไป
ข้อบังคับของประธานศาลฏีกา
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ.๒๕๔๘
หมายอาญา
หมวด ๒
หมายจับ หมายค้น
ส่วนที่ ๑ การร้องขอและการออกหมายจับ หมายค้น ในกรณีปกติ
การเสนอพยานหลักฐานในการขอให้ออกหมายจับหรือหมายค้น
ข้อ ๑๗ พยานหลักฐานที่อาจพิสูจน์ได้ว่า มีเหตุสมควรในการออกหมายจับหรือหมายค้น ให้รวมถึง
๑. ข้อมูลที่ได้จากการสืบสวนสอบสวน เช่น บันทึกการสอบสวน บันทึกถ้อยคำของสายลับ หรือของเจ้าพนักงานที่ได้จากการแฝงตัวเข้าไปในองค์กรอาชญากรรม ข้อมูลที่ได้จากการรายงานของแหล่งข่าวของเจ้าพนักงานหรือการหาข่าวจากผู้กระทำความผิดที่ทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และข้อมูลที่ได้จากการรายงานการเฝ้าสังเกตการณ์ของเจ้าพนักงานที่ทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นต้น
๒. ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์ หรือที่ได้จากการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี เช่น เครื่องมือตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือ เครื่องมือตรวจพิสูจน์ของกลาง เครื่องจับเท็จ เครื่องมือตรวจโลหะ และเครื่องมือตรวจพิสูจน์ทางพันธุกรรม เป็นต้น
๓. ข้อมูลที่ได้จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น ข้อมูลที่ได้จากจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรืออินเตอร์เน็ต เป็นต้น
๔. ข้อมูลที่ได้จากหนังสือของพนักงานอัยการเรื่องขอให้จัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหา (อ.ก.๒๙)
ข้อ ๑๘ ในการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาอนุญาตให้ออกหมายจับหรือหมายค้น ผู้พิพากษาไม่จำต้องถือเคร่งครัดเช่นเดียวกับการรับฟังพยานหลักฐานที่ใช้พิสูจน์ความผิดจำเลย
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประเภทสำนวนการสอบสวน