ในการจัดให้มีการชี้ตัวผู้ต้องหา ให้กระทำแต่เฉพาะวิธีชี้ตัวผู้ต้องหาโดยมิให้ผู้ต้องหาเห็นตัวผู้ชี้ตัว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้กล่าวหาและพยานผู้ชี้ตัวผู้ต้องหา
กรณีที่พนักงานสอบสวนมีความจำเป็นจะต้องจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ชี้ตัวบุคคลใด ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการชี้ตัวบุคคล ในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และสามารถป้องกันมิให้บุคคลซึ่งจะชี้ตัวเห็นตัวเด็ก โดยให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ พนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการชี้ตัวบุคคลนั้น เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่อาจหาหรือรอบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ และเด็กไม่ประสงค์จะให้มี หรือรอ บุคคลดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวนบันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในบันทึกพนักงานสอบสวนด้วย
ในกรณีการชี้ตัวผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการชี้ตัวในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และสามารถป้องกันมิให้ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กนั้น เห็นตัวบุคคลที่จะทำการชี้ตัว (ข้อ ๖.๑๑)
หนังสือ ตร. ที่ มท ๐๖๐๖.๖/๕๒๗ ลง ๑๖ ม.ค.๒๕๔๑
เรื่อง การปฏิบัติในการชี้ตัวผู้ต้องหา
กำหนดว่า ตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๘ บทที่ ๘ ว่าด้วยการจัดให้ชี้ตัวและชี้รูปผู้ต้องหา ข้อ ๒๖๑ และตามหนังสือกรมตำรวจที่ ๐๕๐๓.๖/๑๖๔๔๒ ลง ๑๑ ธ.ค.๑๕๓๙ ข้อ ๓ กำหนดวิธีการชี้ตัวผู้ต้องหาเพื่อถือปฏิบัติไว้ ๒ วิธี คือ
(๑) จัดให้ผู้กล่าวหาหรือพยานเข้าชี้ตัวผู้ต้องหาในลักษณะที่ให้ผู้ชี้ตัวเผชิญหน้ากับผู้ต้องหา
(๒) วิธีชี้ตัวผู้ต้องหาโดยมิให้ผู้ต้องหามองเห็นผู้ชี้ตัวนั้น
เนื่องจากการชี้ตัวโดยวิธีการที่ให้ผู้กล่าวหาหรือพยานเข้าชี้ตัวผู้ต้องหา ในลักษณะที่ให้ผู้ชี้ตัวเผชิญหน้ากับผู้ต้องหา เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดภยันตรายแก่ผู้กล่าวหาหรือพยานผู้ชี้ตัวผู้ต้องหา ในกรณีที่ผู้ต้องหามีอิทธิพล ผู้เสียหายหรือพยานอาจไม่กล้าชี้หรือเจตนาชี้ให้ผิดตัว เนื่องจากเกรงกลัวว่าจะได้รับอันตราย เป็นการไม่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้เสียหายหรือพยาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยานซึ่งเป็นผู้เสียสละมาให้ความร่วมมือต่อรัฐ และในบางครั้งผู้เสียหายที่เข้าชี้ตัวผู้ต้องหาได้ทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาโดยที่ผู้อำนวยการชี้ตัวไม่อาจป้องกันได้เป็นการเสียหายต่อภาพพจน์ของ ตร. ทั้งในการจัดให้ผู้กล่าวหาหรือพยานเข้าชี้ตัวผู้ต้องหาในลักษณะที่ให้ผู้ชี้ตัวต้องเผชิญหน้ากับผู้ต้องหายังไม่เป็นการสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔๔ ที่บัญญัติว่า บุคคลซึ่งเป็นพยานในคดีอาญามีสิทธิได้รับการคุ้มครองและการปฏิบัติที่เหมาะสม ฉะนั้น ในการจัดให้มีการชี้ตัวผู้ต้องหา (ไม่รวมถึงการชี้รูปผู้ต้องหา) ให้กระทำแต่เฉพาะวิธีชี้ตัวผู้ต้องหาโดยมิให้ผู้ต้องหามองเห็นตัวผู้ชี้ตัวเท่านั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้กล่าวหาและพยานผู้ทำการชี้ตัวผู้ต้องหา โดยมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
๑. กรณีผู้กล่าวหาและพยานให้การรู้จักผู้ต้องหา แต่ไม่คุ้นเคยหรือไม่รู้จัก แต่เห็นหน้าอีกจำได้ ตามที่ได้ให้การถึงตำหนิรูปพรรณไว้โดยละเอียดในคำให้การ ต้องจัดให้มีการชี้ตัวผู้ต้องหาหรือภาพถ่ายผู้ต้องหาแล้ว ให้สอบสวนปากคำยืนยันตามที่ให้การไว้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อพิสูจน์ว่าผู้กล่าวหาหรือพยานจำผู้ต้องหาได้แน่นอนตามที่ได้ให้การไว้
การจัดให้ชี้ตัวหรือภาพถ่ายผู้ต้องหาอาจกระทำได้ทั้งในสถานีตำรวจหรือสถานที่อื่น สำหรับผู้ทำหน้าที่อำนวยการชี้ตัวหรือภาพถ่าย ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีหรือผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ดำเนินการ
สถานที่ที่จะทำการชี้ตัวผู้ต้องหา ต้องเป็นห้องที่มีกำบังพอที่จะป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกมองเห็นบุคคลที่อยู่ภายในห้องได้จากทางอื่นนอกจากช่องกระจก (มีขนาดพอสมควรที่จะมองเข้าไปภายในห้องได้โดยสะดวก) กระจกที่ใช้เป็นกระจกมองทางเดียว (one-way mirror) โดยติดตั้งให้ผู้ชี้ตัวผู้ต้องหามองผ่านเข้าไปในห้องชี้ตัวผู้ต้องหาได้ แต่บุคคลภายในห้องชี้ตัวผู้ต้องหาไม่สามารถมองเห็นบุคคลที่อยู่ภายนอกห้องชี้ตัวได้ และภายในห้องชี้ตัวผู้ต้องหาต้องมีแสงสว่างเพียงพอที่จะเห็นบุคคลภานในห้องได้อย่างชัดเจน
๒. วิธีชี้ตัวผู้ต้องหาให้ปฏิบัติดังนี้
๒.๑ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณี ห้ามจัดให้ผู้ที่จะทำการชี้ตัวผู้ต้องหามีโอกาสเห็นตัวหรือภาพถ่ายหรือตำหนิรูปพรรณผู้ต้องหาก่อนทำการชี้ตัว
๒.๒ พยายามจัดให้ผู้ต้องหาแต่งกายลักษณะคล้ายคลึงกับเวลาที่เกิดเหตุยืนปะปนกับบุคคลอื่นเพศเดียวกัน รูปร่าง ขนาด อายุ และแต่งกายลักษณะคล้ายคลึงกับผู้ต้องหาจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ คน และอยู่รวมกับผู้ต้องหาในที่เดียวกัน
๒.๓ ให้ผู้ต้องหาและบุคคลที่จัดไว้ยืนเข้าแถวอยู่รวมกัน หรือ เดินผ่านผู้ชี้ตัวทีละคน และให้ผู้ต้องหาเลือกที่ยืนหรือลำดับที่เดินผ่านผู้ชี้ตัว แล้วแต่กรณีตามความประสงค์ของผู้ต้องหาทุกครั้ง และเมื่อผู้ต้องหาพอใจอย่างไรแล้ว ให้บันทึกรับทราบการชี้ตัวผู้ต้องหาไว้ด้วย
บันทึกรับทราบการชี้ตัวของผู้ต้องหา ให้เป็นไปตามแบบที่แนบท้ายหนังสือนี้
๒.๔ ในการชี้ตัวผู้ต้องหา ให้ผู้ทำหน้าที่อำนวยการในการชี้ัตัวผู้ต้องหาจัดให้มีบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่ตำรวจและบุคคลที่เชื่อถือของบุคคลโดยทั่วไป เช่น ข้าราชการฝ่ายปกครอง ข้าราชการครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สื่อมวลชน หรือบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของบุคคลในพื้นที่ที่มีการชี้ตัวอย่างน้อย ๒ คน เป็นพยานในการชี้ตัวผู้ต้องหา
๒.๕ ห้ามผู้ใดกระทำการอันเป็นเชิงแนะนำให้ชี้ตัวผู้ต้องหาคนใด
๒.๖ เมื่อชี้ตัวผู้ต้องหาแล้ว ให้บันทึกผลการชี้ตัวไว้เป็นหลักฐาน โดยแยกทำบันทึกเป็นรายบุคคลของผู้เข้าชี้ตัว แล้วให้ผู้ทำหน้าที่อำนวยการชี้ตัว ผู้ชี้ตัว และพยานในการชี้ตัว ลงลายมือชื่อรับรองการชี้ตัวไว้ด้วย
บันทึกผลการชี้ตัวผู้ต้องหา ให้เป็นไปตามแบบที่แนบท้ายหนังสือนี้
เมื่อชี้ตัวผู้ต้องหาแล้ว ให้ลงบันทึกรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐานและให้สอบสวนปากคำผู้ชี้ตัวไว้ด้วย
๒.๗ ในการชี้ตัวผู้ต้องหา จะจัดให้มีการบันทึกภาพไว้ด้วยก็ได้
๓. ระเบียบหรือคำสั่งของกรมตำรวจใดที่ขัดหรือแย้งกับหนังสือสั่งการนี้ ให้ใช้หนังสือสั่งการนี้แทน
จึงแจ้งมาเพื่อทราบและให้แจ้งผู้ใต้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก
ผบ.ตร.