การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา
การรับแจ้งความ
เมื่อประชาชนมาแจ้งเรื่องราวต่าง ๆ ต่อสถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องมีหน้าที่ดำเนินการดังต่อไปนี้
๑. ต้องอำนวยความสะดวก และให้คำแนะนำ ที่ถูกต้อง อย่างรวดเร็ว
๒. ต้องพิจารณาว่า เป็นการแจ้งความเกี่ยวกับคดีอาญาหรือไม่
๒.๑ ถ้าหาก ผู้แจ้งความ ได้แจ้งความที่ไม่เกี่ยวกับคดีอาญา ซึ่งไม่ใช่คำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ แต่เป็นการขอรับบริการในเรื่องอื่น เช่นการแจ้งไว้ความเป็นหลักฐาน พนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะบันทึกไว้ในสมุดรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน
ถ้าเป็นกรณีเอกสารหาย ก็จะบันทึกในสมุดรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหาย
๒.๒ ถ้าหาก ผู้มาแจ้งความ ได้แจ้งความที่เกี่ยวกับคดีอาญา ซึ่งเป็นการแจ้งความเกี่ยวกับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษในคดีอาญาทั่วไป หรือคดีจราจรทางบก
พนักงานสอบสวน ต้องรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ ไม่ว่าในเรื่องนั้นเหตุจะเกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจการสอบสวนของสถานีตำรวจท้องที่ที่รับผิดชอบหรือไม่ก็ตาม
พนักงานสอบสวน จะไม่รับแจ้งความโดยปฏิเสธว่า เหตุมิได้เกิดในเขตอำนาจตนไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ต้องพิจารณาว่า เหตุเกิดในเขตอำนาจหรือไม่
กรณีเหตุความผิดอาญาได้เกิด อ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดในเขตอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
- รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามระเบียบ
- บันทึกรายละเอียดในสารบบการดำเนินคดีอาญา - จราจรทางบก
- ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เปรียบเทียบปรับในวันเดียวกันนั้นก็ตาม หรือ
- ทำสำนวนการสอบสวน และ
- ลงรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
- รีบทำการสอบสวนโดยมิชักช้า
(๒) กรณีเหตุซึ่งมิได้เกิดในเขตอำนาจของตน หรือ ที่เกิดนอกราชอาณาจักร พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
- พนักงานสอบสวนจะรับแจ้งความโดยลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ก่อน
- แล้วส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่รับผิดชอบ เพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป
๓. ต้องพิจารณาว่า ผู้ใดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
๓.๑ การรับแจ้งความ ที่ยังไม่แน่ชัดว่าความผิดอาญาได้เกิด อ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดในเขตอำนาจของตน
- พนักงานสอบสวนจะดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙ กล่าวคือ ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว คือ ผู้รับผิดชอบทำสำนวน คือ พนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจ ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้ ผู้รับผิดชอบทำสำนวน คือ พนักงานสอบสอบสวน ซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขต
- กรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกัน หรือในกองบัญชาการเดียวกัน เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑/๑ (แก้ไขโดยประกาศ คสช. ฉบับที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ ก.ค.๒๕๕๗) ให้ผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนนั้นเป็นผู้ชี้ขาด , ในกรุงเทพฯ ให้ รอง ผบ.ตร.ขึ้นไป เป็นผู้ชี้ขาด , ในกรณีหลายจังหวัด ให้อัยการสูงสุด หรือผู้ทำการแทนเป็นผู้ชี้ขาด
๔. ถ้ายังไม่แน่ว่าเรื่องที่มาแจ้งความเป็นเรื่องทางแพ่ง หรืออาญา พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
การรับแจ้งความ ที่ยังไม่ชัดว่า เป็นคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ หรือเป็นเรื่องทางแพ่ง
- ให้บันทึกการรับแจ้งความไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี
- รีบเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นถึงหัวหน้าหน่วยงาน
- หัวหน้าหน่วยงานจะพิจารณาสั่งภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่บันทึกการรับแจ้งความไว้
กรณีหัวหน้าหน่วยงานพิจารณาวินิจฉัยสั่งการ เห็นว่า เป็นเรื่องทางแพ่ง
- ก็จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจให้ผู้แจ้งความทราบ และ
- ลงประจำวันเกี่ยวกับคดี พร้อมให้ ผู้แจ้งลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
กรณี หัวหน้าหน่วยงานพิจารณาวินิจฉัยสั่งการ เห็นว่า เป็นเรื่องในทางอาญา
- ไม่ว่าจะเป็นคดีความผิดอาญาต่อแผ่นดิน หรือความผิดอาญาต่อส่วนตัว
- พนักงานสอบสวนจะพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
๕. ในกรณีเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ในกรณีดังต่อไปนี้
๕.๑ เมื่อผู้เสียหายขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ยอมร้องทุกข์ตามระเบียบ กรณีนี้ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามหน้าที่โดยมิชักช้า
๕.๒ เมื่อผู้เสียหายฟ้องคดีเสียเองโดยมิได้ร้องทุกข์ก่อน
๕.๓ เมื่อมีหนังสือกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์ หรือ บุคคลกล่าวโทษด้วยปาก ไม่ยอมบอกว่า เขาคือใคร หรือ ไม่ยอมลงลายมือชื่อในคำกล่าวโทษ หรือบันทึกคำกล่าวโทษ
ทั้งสามกรณี พนักงานสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนก็ได้ (ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๒) แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับการ หรือผู้บัญชาการสำหรับหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนซึ่งขึ้นตรงต่อกองบัญชาการหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการ เพื่อจะไม่ทำการสอบสวน
ถ้าหากผู้บังคับบัญชา มีความเห็นว่า ไม่ต้องทำการสอบสวน ให้บันทึกบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการรับแจ้งความไว้ใน สมุดสารบบการรับแจ้งความที่เกี่ยวกับคดีอาญาโดยไม่สอบสวน (ตามแบบ ส.๕๖-๗๔)
ในคดีความผิดอาญาแผ่นดินและผู้เสียหายประสงค์ร้องทุกข์ ไม่ใช่กรณีขอความช่วยเหลือเท่านั้น ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนว่า มีมูลความผิดหรือไม่ ถ้าปรากฏเป็นความผิดแล้ว เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการสอบสวนต่อไป