บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร. 02-2053466
ที่ 0004.6 / 4778 วันที่ 17 เมษายน 2545
เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการทำความเห็นทางคดีและการถอนเลขคดี
รอง ผบ.ตร. ผู้ช่วย ผบ.ตร. ผบช. ผบก. หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า
ตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 13 บทที่ 3 ข้อ 13 กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการขอถอนเลขคดีไว้ สรุปความได้ว่า กรณีที่พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ แล้วภายหลังการสอบสวนปรากฏว่า ไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบรายงานตามลำดับชั้นจนถึงกองบัญชาการหรือตำรวจภาค แล้วแต่กรณี เพื่อขอถอนหมายเลขคดีและสำเนาส่งศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศปรับข้อมูลให้ถูกต้องโดยมิชักช้า แต่ปรากฏว่า เมื่อมีกรณีที่พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษแล้ว ต่อมาภายหลังพบว่าไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น พนักงานสอบสวนบางนายกลับยุติการสอบสวนและขอถอนหมายเลขคดีโดยไม่สรุปความเห็นทางคดีส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับการทำความเห็นทางคดีและการถอนหมายเลขคดี เป็นไปด้วยความถูกต้องเรียบร้อย จึงขอซักซ้อมแนวทางปฏิบัติดังนี้
1. เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษไว้แล้ว จะต้องเริ่มทำการสอบสวนเพื่อความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 241 ป.วิ.อาญา มาตรา 130 และเมื่อสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วให้สรุปสำนวนทำความเห็น งดการสอบสวน เห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 140 , 141 หรือ 142 แล้วแต่กรณี
2. การขอถอนเลขคดีตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 13 บทที่ 3 ข้อ 13 เป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษลงในสมุดสารบบการดำเนินคดีอาญาทั่วไป หรือสมุดสารบบการดำเนินคดีจราจรทางบก (รับเลขคดีอาญาหรือจราจร) ประจำที่ทำการของพนักงานสอบสวนไว้แล้ว ภายหลังการสอบสวนปรากฏว่าไม่มีการกระทำความผิดคดีอาญาหรือคดีจราจรเกิดขึ้น ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินการขอถอนหมายเลขคดีอาญาหรือจราจรตามระเบียบที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปรับสถิติคดีอาญาหรือจราจรให้ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ส่วนเลขคดีที่ปรากฏอยู่ในสมุดสารบบการดำเนินคดีอาญาทั่วไป หรือสมุดสารบบการดำเนินคดีจราจรทางบก ประจำที่ทำการของพนักงานสอบสวนยังมีอยู่ ไม่ได้ลบหรือหายไปจากสมุดสารบบแต่อย่างใด สำหรับสำนวนการสอบสวนพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการสอบสวนให้เสร็จสิ้น แล้วสรุปสำนวนมีความเห็นส่งให้พนักงานอัยการตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 140 , 141 หรือ 142 แล้วแต่กรณี
จึงซักซ้อมความเข้าใจมาเพื่อทราบและแจ้งให้พนักงานสอบสวนในสังกัดทราบ เพื่อถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดต่อไป หากเกิดความบกพร่องหรือเสียหายแก่ทางราชการขึ้น พนักงานสอบสวนและผู้เกี่ยวข้อง จะต้องรับผิดชอบทางวินัยตามควรแก่กรณี
พล.ต.อ.สันต์ศรุตานนท์
ผบ.ตร.