ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี
ลักษณะที่ 30
การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน
และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์
--------------
เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ผลการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อย่างถูกต้องตรงกัน ธำรงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ที่ดี ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น เชื่อถือและศรัทธายินดีให้ความร่วมมือกับข้าราชการตำรวจและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการอนุญาตให้ใช้สถานที่บุคลากร อุปกรณ์ หรือยานพาหนะในการถ่ายทำภาพยนตร์ ละครโฆษณา หรือบันทึกภาพนิ่ง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้ทุกหน่วยงานและข้าราชการตำรวจถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนี้ข้อ 1 การให้ข่าวแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
1.1 ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการให้ข่าวแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์
1.1.1 ให้หัวหน้าหน่วยงานซึ่งมียศตั้งแต่พันตำรวจตรีขึ้นไป หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเฉพาะ หรือผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการให้ข่าวแถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง เฉพาะงานในหน้าที่รับผิดชอบหรือที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น
กรณีที่ปรากฏมีข่าวในทางเสื่อมเสียเกี่ยวกับหน่วยงานใด ให้หัวหน้าหน่วยงานตามวรรคหนึ่ง รายงานข้อเท็จจริงให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยด่วน และพิจารณาแถลงข่าวนั้น ซึ่งรวมถึงการให้สัมภาษณ์ หรือการไปร่วมรายการทางวิทยุหรือโทรทัศน์ หรือการให้ข้อมูลข่าวสารทางสื่ออื่น ๆ ด้วย
1.1.2 ข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งหรือยศต่ำกว่าข้าราชการตำรวจตาม 1.1.1 หากประสงค์จะเป็นผู้ให้ข่าวแถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง ให้ขออนุญาตเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้มีอำนาจตาม 1.1.1 หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง การบังคับใช้กฏหมายหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความปลอดภัยของบุคคลให้เป็นอำนาจหน้าที่ของข้าราชการตำรวจตาม 1.1.1 เท่านั้น
1.1.3 กรณีที่ข้าราชการตำรวจตำแหน่งต่ำกว่าผู้บังคับการ ประสงค์จะให้สัมภาษณ์ เป็นพิธีกร ผู้ดำเนินรายการ หรือเข้าร่วมรายการต่าง ๆ ที่มีการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง เกี่ยวกับการให้ความรู้ ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือดำเนินการอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน นอกเหนือจากการดำเนินการตาม 1.1.1 ให้ขออนุญาตต่อผู้บังคับการ
1.2 แนวทางปฎิบัติในการให้ข่าว แถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง
1.2.1 ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการให้ข่าว แถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ ต้องปฏิบัติภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ควรระมัดระวังถ้อยคำหรือกริยาท่าทางอันจะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น และควรใช้ถ้อยคำที่เป็นกลางเพื่อไม่ให้เป็นการประจาน ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น
1.2.2 ห้ามให้ข่าว แถลงข่าว หรือสัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้
1.2.2.1 เรื่องที่มีผลกระทบต่อการรักษาความปลอดภัยของประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
1.2.2.2 เรื่องหรือข้อความที่จะทำให้เกิดการเสียหายแก่ทางราชการ
1.2.2.3 เรื่องที่เกี่ยวกับคำสั่งให้ปฎิบัติหน้าที่อันเป็นระเบียบการภายใน และคำสั่งหรือระเบียบการใด ๆ ที่ถือเป็นความลับ
1.2.2.4 เรื่องที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือจะเกิดการเสียหายทั้งชื่อเสียงหรือผลประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ความผิดฐานหมิ่นประมาท และเรื่องอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกัน
1.2.2.5 เรื่องที่อาจส่งผลกระทบหรือเสียหายต่อคดี โดยเฉพาะคดีที่อยู่ในระหว่างการสืบสวนหรือสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เช่น การเปิดเผยเกี่ยวกับเทคนิควิธีการปฏิบัติงานที่ควรปกปิดเป็นความลับ แนวทางการสืบสวนสอบสวนการจับกุม ตรวจค้นและการรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ในทุกขั้นตอนเป็นต้น
1.2.2.6 เหตุการณ์หรือเรื่องราวที่ไม่เหมาะสม ซึ่งถ้าหากเปิดเผยต่อประชาชนอาจเป็นแบบอย่างที่บุคคลอื่นจะถือเอาเป็นตัวอย่างในการกระทำขึ้นอีก เช่น แผนประทุษกรรมต่าง ๆ ของคนร้าย หรือวิธีการที่แสดงถึงการฉ้อโกง การกระทำอัตวินิบาตกรรม และวิธีการอันชั่วร้ายอื่นๆ
1.2.3 การให้สัมภาษณ์โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นผู้ทำการสัมภาษณ์ในลักษณะเป็นคนกลาง ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยความสุภาพ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
1.2.4 ห้ามนำหรือจัดให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน มาให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง ยกเว้นกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีและสาธารณชน หรือได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน โดยให้ขออนุญาตเป็นหนังสือต่อผู้บัญชาการที่รับผิดชอบคดี
ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม ห้ามนำผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี บริบูรณ์ พระภิกษุสามเณร นักพรต นักบวช ผู้เสียหายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มาให้ข่าวแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนงนี้เป็นอันขาด รวมตลอดถึงการชี้ตัวผู้ต้องหาในลักษณะที่เป็นการเผชิญหน้าต่อสื่อมวลชนทุกแขนง
1.2.5 เพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นประโยชน์ในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนทุกแขนง และให้ประชาชนได้รับข่าวที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ควรจะเตรียมเอกสารที่มีรายละเอียดของข้อมูลที่เปิดเผยได้ประกอบการแถลงข่าว โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เกี่ยวข้องในคดีและรูปคดี
1.2.6 เรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายของแต่ละหน่วยงาน ให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงาน หรือโฆษก หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น จะเป็นผู้ให้ข่าวแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์
1.2.7 กรณีที่เกิดเหตุการณ์รุนแรง หรือสถานการณ์วิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและภยันตรายของประชาชน ให้ถือปฏิบัติในการให้ข่าว การแถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ หรือประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ
ข้อ 2 ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสื่อมวลชนให้ถือปฏิบัติดังนี้
2.1 ห้ามนำสื่อมวลชนทุกแขนงไปทำข่าว หรือถ่ายภาพ ในขณะเข้าปฎิบัติการตรวจค้นจับกุม เว้นแต่ เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนหรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งคดี
2.2 ห้ามเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนหรือพนักงานสอบสวน อนุญาตหรือจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงนี้ถ่ายภาพในห้องสืบสวนหรือห้องสอบสวนในขณะทำการสืบสวนสอบสวน เว้นแต่ เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนหรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งคดี
2.3 ห้ามอนุญาตหรือจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงถ่ายภาพ สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวของบุคคลต่อไปนี้
2.3.1 ผู้ต้องหาในระหว่างการควบคุมของตำรวจ ทั้งภายในและภายนอกที่ทำการหรือสถานีตำรวจ
2.3.2 เหยื่ออาชญากรรมหรือผู้เสียหาย รวมทั้งภาพที่มีลักษณะอุจาด หรือทารุณโหดร้าย หรือล่วงละเมิดสิทธิบุคคล หรือส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง เกียรติยศ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เว้นแต่ พนักงานสอบสวนดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งคดีโดยได้รับความร่วมมือยินยอมจากผู้ต้องหาเหยื่ออาชญากรรมหรือผู้เสียหาย
ข้อ 3 การอนุญาตให้ใช้สถานที่บุคลากร อุปกรณ์ หรือยานพาหนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมหรือประกอบฉากถ่ายทำภาพยนตร์ ละครโฆษณา หรือบันทึกภาพนิ่ง เพื่อเผยแพร่ภาพทางสื่อมวลชนทุกแขนง ให้ผู้ขออนุญาตยื่นเรื่องพร้อมบทและเนื้อหาที่จะนำเสนอ ต่อหัวหน้าหน่วยงานที่ได้รับการร้องขอ แล้วให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพิจารณามีความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บังคับการ เว้นแต่ อุปกรณ์หรือยานพาหนะใดที่ระเบียบกำหนดไว้ ให้ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป ก็ให้ดำเนินการตามระเบียบนั้น
ให้ผู้บังคับการพิจารณาบทและเนื้อหาในการอนุญาตโดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการและภาพลักษณ์ที่ดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นสำคัญ
เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ให้หัวหน้าหน่วยงานที่ได้รับการร้องขอ เป็นผู้ดูแลสถานที่ อุปกรณ์และยานพาหนะของทางราชการมิให้เกิดความเสียหาย
ข้อ 4 การกำกับดูแลและควบคุมการปฏิบัติ
4.1 ให้สำนักงานจเรตำรวจกองสารนิเทศ และผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยงานระดับกองบัญชาการและกองบังคับการ กำกับดูแลและควบคุม หากพบการกระทำที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว และให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน การอนุญาตให้ใช้สถานที่บุคลากร อุปกรณ์ หรือยานพาหนะของทางราชการ การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหาย แจ้งข้าราชการตำรวจผู้นั้นยกเลิกการกระทำดังกล่าว หรืออาจจะมีข้อเสนอแนะในทางที่เหมาะสมด้วยก็ได้
4.2 ให้โฆษกหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายของหน่วยงาน ร่วมกำกับดูแลและควบคุมการให้ข่าว การแถลงข่าว และการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนของข้าราชการตำรวจในสังกัดอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดความรอบคอบและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
4.3 ให้ทุกหน่วยงานพิจารณาตรวจสอบรายละเอียดและเนื้อหาในการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ทั้งก่อนและหลังการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ ก่อนนำออกเผยแพร่ให้มีความเหมาะสมและเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(ที่มา.- ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 30 การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชนและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ พ.ศ.2556 ลงวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2556)